เรียนทวิภาคี ดียังไง? เทคนิคแพร่ จับมือ บ.ฮอนด้า (ประเทศไทย) ผลิตกำลังคนอุตสาหกรรมยานยนต์ สมรรถนะสูง

1220 จำนวนผู้เข้าชม  | 

       ตามที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มอบนโยบายในที่ประชุมวิชาการ ปัจจุบันสู่อนาคตการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อพัฒนาประเทศ “สื่อสาร ส่งเสริม สู่การปฏิบัติ” ภาคเหนือ ณ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน ว่าอาชีวศึกษาจะต้องขับเคลื่อนด้วยการเติมทักษะพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์แรงงานอุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนทวิภาคีถือเป็นหัวใจหลักสำคัญที่จะสร้างอาชีพให้แก่ผู้เรียนในอนาคต ซึ่งตนตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเพิ่มความร่วมมือด้านทวิภาคีให้ได้ 50% หรือประมาณ 5 แสนคน ในปีการศึกษา 2568

       ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี ได้มีแนวทางในการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง และการเพิ่มปริมาณผู้เรียนทวิภาคี ด้วยแนวคิด 3 ส 1 ป
   ส.1 เสริมสร้างการประชาสัมพันธ์ และการแนะแนวเชิงรุก
   ส.2 ส่งเสริมการเพิ่มภาคีเครือข่าย และระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
   ส.3 สนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง
   ป.1 ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

       โดยในวันที่ 27 มกราคม 2566 วิทยาลัยเทคนิคแพร่ โดย ผอ.อัศวิน ข่มอาวุธ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคแพร่ รองฯสมเกียรติ  สถิตย์  รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ครูโอฬาร โอฬาระวัต หน.แผนกเครื่องกลอุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนข้างต้น โดยเข้าร่วมประชุมและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (MOU) ประจำปี 2566 กับ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด และยังมีสถานศึกษาที่อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง อีก 71 แห่ง ณ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี

       ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับน้องๆ นักศึกษา ได้เข้ามาฝึกประสบการณ์ในโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า และศูนย์บริการรถยนต์ฮอนด้าทั่วประเทศ เป็นแหล่งความรู้และประสบการณ์ให้กับนักศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ และยังไม่หมดเท่านี้ น้องๆ นักศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับค่าตอบแทนระหว่างฝึกประสบการณ์ ที่โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า จ.ปราจีนบุรี ดังนี้
 1. เบี้ยเลี้ยงรายวัน  343 บาท/วัน
 2. เบี้ยขยันการฝึกอาชีพ  700 บาท/เดือน
 3. ค่ากะ (OT) สำหรับฝึกอาชีพ 36/123/190/210 บาท/วัน
 4. เบี้ยเลี้ยงพิเศษรายเดือน 550 บาท/เดือน
 5. ทุนการศึกษา  เฉลี่ย 24,000 บาท
 จะได้ค่าตอบแทน เฉลี่ย 10,000-12,000 บาท
 *ข้อมูลจากภาพประกอบการบรรยายพิธีลงนามความร่วมมือ วันที่ 27 ม.ค. 66

       น้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี สามารถสมัครเรียน ระดับ ปวช. ,ปวส. และระดับ ปริญญาตรี ในสาขาเครื่องกลอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคนิคแพร่ ได้ที่ admission.technicphrae.ac.th หรือ น้องๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด สามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมที่วิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ทั่วประเทศ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้